(004) 5 ความท้าทาย(ที่ไม่ใช่ปัญหาใหญ่โต)ของการพิมพ์งาน DTG และวิธีที่จะข้ามพ้นมัน

ตั้งแต่เริ่มต้นของวงการ DTG ในอเมริกา (ตั้งแต่ต้นปี 2000) เทคโนโลยีนี้ได้ก้าวข้ามผ่านความท้าทายต่างๆ ด้วยการค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม และความอดทนของผู้คนนับไม่ถ้วน จนกระทั่ง DTG สามารถพุ่งขึ้นมาเป็นวิธีการพิมพ์ที่เป็นที่นิยมอันดับต้นๆในอุตสาหกรรม
แล้วความท้าทายเหล่านั้นคืออะไร? จากการสำรวจของนิตยสาร พริ้นท์แวร์ พบว่ามันคือ

- ต้นทุนค่าเครื่อง
- ค่าหมึกที่แพงกว่าหมึกสกรีน
- การทำความเข้าใจขั้นตอนการปรีทรีต
- การใช้และการบำรุงรักษาหมึกขาว
- การพิมพ์บนผ้าสีเข้ม

ต้นทุนค่าเครื่อง

หนึ่งในลูกค้าที่ใหญ่ที่สุดของเราบอกผมเมื่อหลายปีก่อนว่าเขาไม่สนใจหรอกว่าเครื่องจะราคาเท่าไหร่ ตราบใดที่มันสอบผ่านความต้องการบางอย่างของเขา นั่นเพราะว่าต้นทุนค่าเครื่องมันเกี่ยวข้องกับโครงสร้างธุรกิจและผลลัพธ์ที่คุณจะได้ออกมา ราคาของเครื่องมีตั้งแต่ต่ำกว่า 300,000 จนถึงเกือบ 30,000,000 เพราะฉะนั้นเมื่อไหร่ที่คุณคิดว่าต้นทุนเครื่องมันสูง โปรดระลึกไว้เถิดว่าจริงๆแล้วมันขึ้นอยู่กับตลาดของคุณจริงๆ เหมือนกับธุรกิจอื่นๆ มันมีปัจจัยที่เป็นตัวกำหนด หัวพิมพ์มีตั้งแต่ราคาต่ำกว่า 12,000 จนบางรุ่นราคาสูงกว่า 300,000 ในการเริ่มต้น

ผมอยากแนะนำให้คุณลิสต์ออกมาก่อนว่าความสามารถใดของเครื่อง ถ้าจะเอามาทำธุรกิจแล้ว คุณไม่สามารถขาดได้จริงๆ แล้วเริ่มต้นดูเครื่องจากตรงนั้น ให้ซื้อเครื่องตามที่ “ตลาด”(หมายถึงกลุ่มลูกค้า) ของคุณต้องการ ถ้าไม่เช่นนั้นคุณจะพบว่าคุณจะมีเครื่องที่ไม่สามารถทำงานตามตลาดของคุณได้
(ผู้แปล: ผู้เขียนต้องการบอกว่าอย่าซื้อตาม “ตลาด”ในจินตนาการ ให้ซื้อเครื่องแบบที่คิดว่าพอพรุ่งนี้คุณเริ่มพิมพ์แล้ว ใครจะซื้อเสื้อของคุณเลยทันที)

ราคาหมึก

เมื่อแรกเริ่มที่เครื่อง DTG ตั้งโต๊ะออกมาในปี 2004 มันยังไม่มีหมึกขาวในท้องตลาด ดังนั้นค่าหมึกจึงไม่ค่อยมีผลเท่าไหร่เมื่อเทียบกับการพิมพ์วิธีอื่น โดยเฉลี่ยลายพิมพ์ DTG หนึ่งก็ใช้หมึกประมาณ 1 มิลลิลิตรรวมๆกันระหว่างหมึกสี CMYK ดังนั้นราคาต่อลิตรเท่าไหร่ ก็หารกันไปง่ายๆ
ยกตัวอย่างว่าถ้าค่าหมึกราคา 11,000 บาทต่อลิตรสมัยนั้น เฉลี่ยค่าหมึกพิมพ์บนเสื้อขาวก็ประมาณ 11 บาทต่อตัว แต่เมื่อคุณรวมหมึกขาวเข้าไปในลาย มันก็จะเพิ่มเข้าไปอีก 5 มิลลิลิตร ทำให้ลายเดียวกันนั้นมีต้นทุนหมึกรวม 66 บาท

(ผู้แปล: 11,000 บาท/ลิตร = 11 บาทต่อมล. หมึกขาวใช้ 5 มล. หมึกขาวอย่างเดียวก็ 55 บาท รวมหมึกสีที่ 11 บาท ก็เป็น 66 บาท)
มันก็มีหลายวิธีที่จะบรรเทาปัญหานี้ไปได้ เริ่มต้นจากการตั้งราคาโดยใช้ข้อได้เปรียบ มีงานบางอย่างบางชนิดที่ DTG ทำได้ดีกว่าวิธีอื่นอย่างมาก ให้ตั้งราคาตรงนั้นเป็นพิเศษ
ในความเป็นจริง คุณจะไม่มีทางพิมพ์ลายสีเต็มๆบนเสื้อ 24 ตัว ด้วยวิธีการสกรีน ต้นทุนในการพิมพ์ด้วยสกรีนจะสูงมาก และนี่เป็นตัวอย่างที่ DTG เหมาะเป็นอย่างยิ่ง แต่ถ้าหากคุณจะต้องพิมพ์แค่หนึ่งหรือสองสีบนเสื้อจำนวนน้อยๆแบบเดียวกัน สกรีนก็อาจจะเป็นวิธีที่เหมาะกว่า
ออร์เดอร์เล็กๆจะเหมาะกับ DTG เพราะมันไม่ต้องเตรียมตัวมาก ค่าแรงเป็นต้นทุนที่สูงที่สุดของการผลิต ดังนั้นการที่เราสามารถเพิ่มประสิทธิภาพได้จะช่วยลดต้นทุนรวมทั้งหมด
(ผู้แปล: ผู้เขียนพยายามบอกกับเราว่า ถ้าเอาตลาด หรือ ความต้องการของลูกค้าเป็นตัวตั้งต้นแล้ว การที่เราสามารถยืดหยุ่นได้ตามลักษณะงาน และต้นทุน จะทำให้เราได้กำไรมากกว่า)

กระบวนการพ่นปรีทรีต

เมื่อพูดถึงกระบวนการพ่นปรีทรีตแล้ว อย่าหวังว่าเสื้อทุกตัวจะออกมาเหมือนกัน อย่างที่เราทราบกันดีว่าผ้าคอตตอนหรือฝ้าย 100% ใช้งาน DTG ได้ดีที่สุด แต่ว่ากระนั้นก็ตาม มันก็ยังมีความท้าทายต่างๆไม่ว่าจะเป็น รอยด่าง, ผ้าเปลี่ยนสี, ขนผ้า และ งานพิมพ์ที่ออกมาไม่สวย อย่างดีที่สุดที่ผมจะพูดได้ในประเด็นนี้คือการทำตารางขึ้นมาจากการทดสอบแบบจริงจัง ให้มั่นใจว่ามันแสดงผลลัพธ์อย่างชัดเจน
อย่างหนึ่งทีผมจะทำเมื่อต้องทดสอบเสื้อใหม่คือการ “ทดสอบขั้นบันได” มันใช้เวลาซักหน่อยแต่แทนที่จะเสียเสื้อไปทั้ง 10 ตัว ผมเลือกจะทดสอบบนเสื้อตัวเดียวให้ทราบก่อนว่าปรีทรีตเท่าไหร่ถึงจะพอ
ผมจะตีช่องตามความกว้างของหัวสเปรย์ปรีทรีตและความยาวของแป้น พอพ่นแล้วก็จะบังแต่ละช่องเอาไว้ ทำให้แต่ละช่องจะได้รับการพ่นปรีทรีตปริมาณไม่เท่ากัน หลังจากที่อบแล้ว ผมจะพิมพ์ลายสีขาวเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้างยาว ให้ครอบทั้งพื้นที่ หลังจากนั้นผมจะนำไปอบ ทำการซัก และกลับมาเช็คปัญหา

การบันทึกผลทดสอบสำคัญมากในการสร้างความสม่ำเสมอ ผลนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจสาเหตุและผลของปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
อีกทางเลือกหนึ่งคือการเก็บสูตรสำหรับเสื้อแต่ละแบบไว้ จดบันทึกในการ์ดใบเดียวกัน จะใช้เวลาซักหน่อยตอนเริ่มต้นกับขบวนการพ่นปรีทรีต แต่จะช่วยลดชั่วโมงการทำงานของคุณได้เยอะมากในภายหลัง

หมึกขาว

ส่วนหนึ่งของความท้าทายในการทำงานกับหมึกขาวก็คือเม็ดสีขาว ไทเทเนี่ยมไดออกไซด์ ที่อยู่ข้างในหมึกนั่นล่ะ มันเป็นแม่สีที่มีเอกลักษณ์มาก และถูกใช้ในการทำหมึกสีขาวแทบทุกชนิดในท้องตลาด อีกนัยนึงหน้าที่ของมันคือทำให้หมึกขาวของคุณขาวขึ้น น้ำหมึกเหลวจะทำให้ผงสีขาวนี้แขวนลอยไว้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป มันอาจจะนอนก้นได้จากแรงโน้มถ่วง
เมื่อหมึกนอนก้น มันสามารถทำอันตรายกับ ท่อนำน้ำหมึก, แป้นปิดหัวพิมพ์ และหัวพิมพ์ เพื่อป้องกันปัญหานั้น คุณจำเป็นต้องคนหรือเขย่าตลับหมึก, ขวดหมึก หรือใช้งานระบบหมุนวนหมึกไม่แบบใดก็แบบหนึ่ง
หากเครื่องพิมพ์ไม่ถ่ายวนหมึกขาวให้กับคุณ คุณจำเป็นต้องทำให้มั่นใจว่าผงขาวยังลอยอยู่ในหมึกโดยการทำการบำรุงรักษาบ่อยๆ

การพิมพ์บนผ้าสีเข้ม

เมื่อพิมพ์บนผ้าสีเข้ม ผมจะให้คำแนะนำเดียวกับข้างต้น คือให้ทดสอบทุกอย่าง หมึก DTG เป็นหมึกเชื้อน้ำ ดังนั้นการพิมพ์บนเส้นใยธรรมชาติ จะให้ผลดีกว่าการพิมพ์บนเส้นใยสังเคราะห์อยู่แล้ว
ยกตัวอย่างโพลีเอสเตอร์ โดยพื้นฐานมันเป็นพลาสติก เมื่อคุณพิมพ์ด้วยน้ำ เส้นใยสังเคราะห์จะสะท้อนน้ำออกไป ส่วนมากแล้วคุณจะสังเกตุเห็นได้ในกระบวนการอบ ถามว่ามีวิธีลัดไหม ปัญหาคือวิธีลัดกลับใช้เวลามากกว่า และไม่ค่อยได้ผล รวมถึงเอาแน่เอานอนไม่ได้ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นไปแทน
แต่ถ้าเป็นผ้าฝ้าย 100% เส้นใยจะมีแนวโน้มที่จะซับหมึกมากกว่าสะท้อนออก แต่กระบวนในการผลิตเสื้อผ้าก็ทำให้ผลลัพธ์แตกต่างกันได้มากทีเดียว

หนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดที่ผมเคยเห็น คือใช้แค่เครื่องรีดร้อน และเสื้อคุณภาพดี (โดยเฉพาะริงสปัน) แล้วทำดังนี้
1. หลังจากสเปรย์ปรีทรีตแล้ว อังเตาไว้ 30 วินาที
2. วางแผ่นกระดาษเคลือบซิลิโคนไว้เหนือเสื้อ
3. รีดด้วยแรงกดสูงๆ

คุณอาจสงสัย ทำไมต้องใช้แรงกดสูงด้วยล่ะ ลองพิสูจน์ด้วยวิธีนี้ดู พับเสื้อครึ่งนึงตามแนวยาว รีดเสื้อที่พับไว้ หลังจากนั้นวางเสื้อไว้บนแป้นเครื่องรีดไว้ข้างนึง วางเสื้อที่พ่นปรีทรีตแล้วทับลงไปในแนวเดียวกัน (ตอนนี้ครึ่งนึงจะสูงกว่าอีกครึ่งนึง) แล้วรีดด้วยแรงกดปานกลาง
ที่คุณเพิ่งทำไปคือทำให้เสื้อที่มีด้านนึงได้รับแรงกดปานกลาง กับอีกด้านได้รับแรงกดสูง หลังจากนั้นพิมพ์บนเสื้อ และดูผลที่ได้รับ ด้านที่ได้รับแรงกดมากกว่าจะพิมพ์สีขาวได้สว่างกว่า ทำไมล่ะ?
เมื่อคุณใช้แรงกดสูง คุณจะจับส่วนประกอบสำคัญของน้ำยาปรีทรีตแล้วล็อคมันไว้ในเส้นใยผ้า ตลอดกระบวนการนี้หากใช้กระดาษมันเงาเท่าไหร่ ก็มีโอกาสที่ผิวงานจะเงามากขึ้นเท่านั้น นั่นเป็นสาเหตุว่าทำไมคุณต้อง “อัง” ก่อน มันจะช่วยลดความเงาได้
อีกหนึ่งปัญหาที่จะมีบนการพิมพ์ผ้าเข้ม คือการเปลี่ยนสี บางครั้งอาจถึงขั้นว่าต้องเปลี่ยนสไตล์เสื้อ หรือยี่ห้อเสื้อกันเลยเพื่อเลี่ยงปัญหานี้ มันเป็นการหาจุดร่วมระหว่าง ปรีทรีตมาก สีขาวขึ้น แต่ผ้าเปลี่ยนสี กับ ปรีทรีตน้อย สีขาวไม่ขึ้น และผ้าไม่เปลี่ยนสี ถ้าถึงขั้นนี้แล้วก็ควรจะเปลี่ยนเป็นเสื้อแบบอื่น
สีที่ว่าอาจเป็นผ้าสีเขียว, สีแดง หรือ สีเทา ที่ผมเคยเห็นมาถ้าจะแก้ได้คงเป็นการเปลี่ยนยี่ห้อเสื้อที่ใช้
และอีกครั้ง นี่เป็นสาเหตุว่าทำไมคุณควรต้องจดบันทึกทุกอย่างที่คุณทำ มันอาจจะไม่ทำให้คุณเข้าใจกระบวนการมากขึ้น แต่มันจะทำให้คุณจับจุดได้เร็วขึ้น และเปลี่ยนความท้าทายทั้งหมดเป็นข้อได้เปรียบ

โดย Jerid Hill
Throughout the years,
Jerid Hill has written articles,
blog and forum postings,
created informative videos and...