ไขความลับการพิมพ์ทั้งตัว

พิมพ์เสื้อทั้งตัว

ถ้าใครอยู่ในวงการสะสมเสื้ออยู่ด้วยแล้วคงเคยเห็นเสื้อที่มีการพิมพ์ทั่วทั้งตัวเป็นลายวงร็อคหรือเมทัลในยุค 90 อยู่เป็นประจำ ซึ่งในสมัยนั้นการพิมพ์ทั้งตัวไม่ได้เป็นที่นิยมเฉพาะในวงการดนตรี แต่ขยายไปถึงลายพิมพ์ธรรมดา แบรนด์อย่างไนกี้ หรือแม้แต่วงการบาสเก็ตบอล มันเป็นแฟชั่นที่มองข้ามไม่ได้เลยในสมัย 90

จริงเหรอที่งานต้องเนี๊ยบ?

สิ่งที่เราต้องทราบก่อนหันกลับไปมองการพิมพ์ทั้งตัวนี้ คือในอเมริกานั้นใช้เสื้อสำเร็จรูปมาตั้งแต่ยุค 80 หรือจะเรียกได้ว่าไม่มีใครเย็บเสื้อในประเทศมาตั้งแต่ก่อนยุคของการพิมพ์ทั้งตัว ดังนั้นงานพิมพ์ทั้งตัวจึงไม่ใช่ “งานเนี๊ยบ” ที่จะหวังว่าการพิมพ์ครอบตะเข็บ, กระดุม หรือ กระเป๋า จะเนียนต่อกันโดยไม่มีหมึกไปกอง ดังนั้นถ้าเห็นเนี๊ยบแบบไม่มีหมึกกองที่รอยต่อ หรือ พิมพ์ผ้าชิ้นแล้วไปต่อเป็นตัว นั่นไม่ใช่งานแบบนี้แน่ๆ งานแต่ละชนิดมีคุณค่าในตัวมันเอง ถ้าจะเอาเนี๊ยบด้วย พิมพ์ทั้งตัวด้วย และราคาปกติด้วย คงไม่คุ้มที่จะทำให้ใครแน่ๆ จะพูดได้ว่าได้ลูกค้าผิดคน ก็คงจะได้

การแบ่งประเภทการพิมพ์
ถ้าแบ่งประเภทการพิมพ์จะแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ

  1. การพิมพ์แบบ 2 ชั้น
  2. การพิมพ์แบบชั้นเดียว

1.การพิมพ์แบบ 2 ชั้น

ด้วยการพิมพ์แบบชั้นเดียวนั้นยากกว่า ใช้เครื่องไม้เครื่องมือเยอะว่า การพิมพ์ 2 ชั้นคือแบบที่เริ่มต้นได้ง่ายๆโดยการแยกลายพิมพ์หลัก และ ลายพิมพ์พื้นหลังออกจากกันตั้งแต่ออกฟิล์ม เราอาจเห็นเสื้อบางยี่ห้อบ้านเราพิมพ์ด้วยวิธีนี้ จับสังเกตุได้ตรงที่ลายพื้นหลังจะไม่ตรงตำแหน่งลายพิมพ์หลักทุกตัว

การพิมพ์พื้นหลัง

เสื้อ : สามารถใช้เสื้อปกติได้เลยโดยไม่ต้องมีการเตรียมการอะไร

บล็อคสกรีน : เฉพาะบล็อคแรกที่เป็นลายกว้างกว่าเสื้อที่ไซส์ใหญ่ที่สุด เป็นลายสีเดียว ถ้าจะให้ดีให้มีเม็ดสกรีนเป็นลายจางๆ

แป้น : จะเลือกปูแป้นด้วยแผ่นโฟมห่อของ, ผ้าชุดดำน้ำ หรือ แป้นยางขาวเซาะร่องก็ได้ พื้นผิวที่นุ่มจะทำให้การพิมพ์ข้ามตะเข็บกระโดดน้อยลง

หมึกพิมพ์ :

  • ถ้าเลือกจะใช้พลาสติซอล ต้องผสมตัวทำเหลว(ที่ไม่ใช่แค่น้ำมันเหลว)มากกว่า 50% ใช้ผ้าสกรีนเบอร์สูง(90T/230 ถึง 120T/305) ในบางงานเราเห็นใช้กันถึง 90% ทีเดียว(คือหมึกเหลือแค่ 10%)

  • หรือจะเลือกใช้ดิสชาร์จหรือสีเชื้อน้ำ แต่ต้องมั่นใจว่าอบได้ 2 นาทีจริง เพราะพื้นที่พิมพ์ใหญ่มาก และตอนถอดเสื้อออกจากแป้นจะไม่ค่อยเห็นหมึก จะเลอะเอาง่าย

วิธีการพิมพ์

  • สเปรย์กาวลงไปทั่วทั้งแป้น

  • ปูเสื้อทั้งตัวลงไปตรงๆ แอบสอดกระดาษไว้ในคอหน่อยเผื่อลายมันเลยแล้วเข้าไปเลอะข้างใน

  • แล้วพิมพ์ลาย พยายามให้จำนวนไม้ที่ปาดน้อยที่สุดเพราะเสื้ออาจเคลื่อนได้ ที่เราเคยเห็นจากวิดีโอว่าใช้แรงกดกันเยอะๆนั้น สาเหตุเพราะยางปาดกว้างมาก ไม่ใช่เพราะต้องการกดหมึกลงเยอะ

  • หมึกควรไหลลงไปอย่างดีเพราะถูกปรับให้เหลวมากมาก่อน

  • ยกเสื้อทั้งตัวแบออกไปใส่ตู้อบ

  • ถ้าเป็นพลาสติซอลจะแฟลชให้หมึกที่เลอะๆเหลืออยู่บนแป้นแห้งไปก่อน หรือถ้าเป็นดิสชาร์จจะใช้วิธีเช็ดออกก็ได้ ก่อนนำแป้นกลับมาใช้อีกที

  • จะพิมพ์ด้านหลังอีกครั้งก็ได้ก็เป็นขั้นตอนเดียวกัน

การพิมพ์ลายหลัก

อุปกรณ์และวิธีการ ก็ใช้ตามปกติที่พิมพ์ลายได้เลย ลายหลักนี้จะเน้นให้เด่นเป็นพิเศษเพื่อดึงความสนใจคนมองออกจากพื้นหลัง อาจใช้หมึกพลาสติซอลตามถนัดเพื่อให้กลบลายเบื้องหลังง่ายๆก็ได้ เพื่อให้การพิมพ์ลายหลักง่ายขึ้น เราอาจเว้นลายพื้นหลังตรงกลางไว้ ทำเม็ดสกรีนบางๆทำให้ไม่เห็นว่าพิมพ์ตรงหรือไม่ตรงก็ได้

2.การพิมพ์แบบชั้นเดียว

เป็นวิธีการพิมพ์หลักๆของเสื้อยุค 90 ที่เราเห็น เนื่องจากแฟชั่นบูมมาก ทำให้ดีไซน์เนอร์ต้องเพิ่มจำนวนสีขึ้นมาเพื่อทำให้เสื้อน่าสนใจมากขึ้น แตกต่างจากการพิมพ์สองชั้นในขั้นตอนการเตรียมเสื้อที่ต้องมากกว่าเพราะที่จุดใดๆในตัวเสื้อต้องผ่านการพิมพ์มากกว่าหนึ่งครั้ง เสื้ออาจเคลื่อนได้

วิธีการเตรียมเสื้อ

เสื้อทุกตัวจะผ่านการพ่นกาวแบบพิเศษภายในเสื้อ กาวที่ว่าเป็นกาวแบบแป้งเปียกคือยึดระหว่างผ้าดีในขณะที่เปียก แต่เมื่อผ่านตู้อบให้แห้งแล้วกาวจะแห้งเป็นผง ทำให้ไม่ต้องส่งเสื้อไปซักเอากาวออกภายหลัง หลังจากพ่นกาวเข้าไปในเสื้อแล้ว เสื้อจะถูกแบออกเป็นแผ่นให้ชิ้นหน้ากับชิ้นหลังติดกัน จะไม่มีการเตรียมกันไว้นานมากนักเพราะกาวอาจจะแห้งก่อนพิมพ์ได้ (https://youtu.be/gz7c8fUqaMo) (https://youtu.be/WSXnyh59eZo)

เครื่องมือในการพิมพ์

การพิมพ์ด้วยระบบแมนนวลไม่ค่อยมีให้เห็นกันมากนั้นเพราะพื้นที่พิมพ์กว้าง และต้องใช้แป้นขนาดใหญ่หลายแป้น บล็อคขนาดใหญ่หลายๆบล็อคทำให้ไม่ได้จำนวนในการพิมพ์ เครื่องพิมพ์วงรี หรือวงกลม ก็จะมีรุ่นเครื่องไม่มากนักที่พิมพ์ได้กว้าง 40 นิ้ว หรือ ประมาณ 1 เมตร จะเห็นก็จะมีแต่ สไตรเกอร์ 80110 ของเอ็มแอนด์อาร์ (https://www.mrprint.com/equipment/stryker-automatic-oval-screen-printing-pres) เพราะอย่าลืมว่าคนพิมพ์ทั้งตัว คือคนพิมพ์เสื้อตัว เครื่องวงรีต้องพิมพ์แบบสอดเสื้อปกติได้ด้วย เครื่องพิมพ์วงรีส่วนมากในท้องตลาดเป็นสำหรับพิมพ์ผ้าชิ้น

เครื่องพิมพ์สายพาน

เครื่องพิมพ์สายพานในโรงงานพิมพ์ผ้าหลานั้น ออกแบบมาให้ทำเป็นล็อตขนาด 5,000 ถึง 10,000 หลาอย่างที่หลายคนอาจจะเจอกันมา แต่เครื่องพิมพ์สายพานของ M&R (https://www.mrprint.com/brochures/predator-lpc-all-over-belt-printing-press-en-20141204-9r6VnnX0r20144yr.pdf) ออกแบบมาให้พิมพ์ล็อตขนาดเล็ก 1,000 ถึง 2,000 หลา หลังจากนั้นมันก็ถูกดัดแปลงเอามาให้พิมพ์เสื้อตัว เนื่องจากวัสดุสายพานเป็นยาง ทำให้ไม่สามารถใช้หมึกพลาสติซอลในการพิมพ์สายพานได้ ทางเลือกจึงเหลือแค่เชื้อน้ำกับดิสชาร์จ

หลักการทำงาน

คนงานจะปูเสื้อที่เตรียมไว้ลงไปบนสายพาน ที่มีลูกกลิ้งทากาวมาจากใต้เครื่องอยู่แล้ว ไม่ว่าเราจะเห็นจะนอนปูหรือยืนปูก็แล้วแต่ หลังจากนั้นจะสอดกระดาษในคอเสื้อเพื่อป้องกันหมึกเลอะเข้าไปในคอ วางเสื้อลงตามมาร์ค(ที่ปัจจุบันอาจจะเป็นเลเซอร์) แล้วปล่อยให้เสื้อพิมพ์ตามจำนวนบล็อคไป เมื่อถึงปลายทางคนงานจะดึงเสื้อออกจากสายพานแล้ววางเสื้อเข้าตู้อบ ส่วนสายพานที่มีทั้งกาวและหมึกเลอะอยู่นั้นจะวนไปใต้เครื่องและมีระบบล้างกาวและหมึกออก ปัดให้แห้ง และผ่านลูกกลิ้งทากาวใหม่ออกมาอีกข้าง (https://youtu.be/0GABCUnjuUE)

ข้อควรระวังในการพิมพ์

เนื่องจากเสื้อจะถูกผ่านตู้อบถึงสองครั้ง การพิมพ์ดิสชาร์จด้านหน้าและหลังจะให้ผลที่ไม่เท่ากันเพราะเส้นด้ายเมื่อถูกความร้อนไล่ความชื้นออกไปในรอบแรกแล้ว จะรัดตัวแน่นขึ้น ทำให้หมึกดิสชาร์จผ่านเข้าไปในเส้นด้ายได้ยากกว่า สีอาจสวยไม่เท่ารอบแรก จึงควรเลือกด้วยว่าจะพิมพ์หน้าหรือหลังก่อนในรอบแรก