
ดิสชาร์จแบบจริงจัง
- มีแง่มุมหนึ่งของการพิมพ์สกรีนบนผ้าที่แตกต่างกับการพิมพ์กระดาษหรือป้ายโฆษณาอย่างมากๆคือ ความจำเป็นที่เราต้องพิมพ์บนผ้าสีต่างๆนอกจากสีขาว ความยากมันจึงอยู่ที่ว่าทำยังไงจะพิมพ์ให้ได้สีสดตามที่ต้องการ โดยที่ไม่มีสีของเนื้อผ้าขึ้นมารบกวน วิธีหนึ่งที่เราใช้แก้ปัญหาคือการพิมพ์รองพื้นด้วยหมึกสีขาว แต่ก็มีข้อด้อยตามมา คือถ้าเลือกผ้าสกรีนไม่เป็นแล้ว งานที่ได้ออกมาก็จะหนา(เพราะทุกที่ๆมีสีจะเกิดจากการพิมพ์สองชั้น) ใส่ไม่สบาย ยิ่งถ้าเป็นลายขนาดใหญ่ๆแล้ว เสื้อถึงกับหนักห้อยมาด้านหน้ากันเลยทีเดียว
- ดิสชาร์จเป็นเทคนิคหนึ่งซึ่งแทนที่เราจะพิมพ์รองพื้นปิดสีผ้า เราก็เปลี่ยนสีผ้าซะเลย และเพื่อให้ง่ายเราก็ผสมสีเข้าไปในหมึกพิมพ์ด้วยให้เปลี่ยนสีผ้าและใส่สีพิมพ์ใหม่ไปในคราวเดียว แต่แน่นอน”สีย้อม”บนผ้านั้น ต้องยอมให้เราเปลี่ยนด้วย ความยากที่สุดของการจะพิมพ์ดิสชาร์จ จึงไม่ใช่หมึก แต่เป็น “ผ้า”นั่นเอง
โรงย้อม กับดิสชาร์จ
เคยมีใครซักคนกล่าวว่า “ในวงการนี้โรงย้อมเป็นใหญ่” หมายความว่า โรงย้อมผ้าจะย้อมอะไรมาให้สุดท้ายเราก็ต้องรับ แต่ผ้าที่จะกัดดิสชาร์จได้นั้นต้องถูกย้อมมาแบบเดียวคือ “รีแอคทีฟ” ดิสชาร์จจริงๆไม่ใช่เทคนิคใหม่ ว่ากันว่าทีี่โรงพิมพ์สมัยก่อนพิมพ์ไม่ได้ ก็เพราะมีปัญหาเหล่านี้

- ผ้าโดนรีดาย หมายความว่าย้อมซ้ำ ย้อมมาแล้วเป็นสีอื่นแล้วเหลือ ก็มาย้อมซ้ำ ซึ่งสีที่ถูกซ้ำก็เป็นสีดำเพราะกลบทุกสี ดังนั้นพอพิมพ์ดิสชาร์จ ก็ไม่เปลี่ยนเป็นสีครีมหรือสีอื่นๆที่ต้องการ
- ต่อให้ส่งตัวอย่างก็แล้ว แต่เอาว่าสั่งยังไงไม่ได้อย่างนั้น ย้อมแบบธรรมดามาให้แทน การย้อมโดยตรงหรือ ไดเร็ค เป็นวิธีการย้อมดั้งเดิม มีข้อเสียคือย้อมสีสดๆแล้วไม่ขึ้น หากอัดสีย้อมไปมากๆสีก็จะตก(ความหมายสีตกคือ ซักแล้วตัวเสื้อซีดลง ไม่ได้แปลว่าน้ำซักไม่มีสี) บ้างว่าเพราะขั้นตอนน้อย ใช้เวลา 22 ชัั่วโมง เทียบกับรีแอคทีฟ 40 ชั่วโมง โรงย้อมก็อยากลดต้นทุน
- ราคาค่าย้อมที่แพงขึ้น ได้ประมาณ 20 บาท/กิโลกรัม

ผ้าอะไรที่เหมาะกับพิมพ์ดิสชาร์จ
ด้วยความที่ผ้าที่เหมาะสมหายาก โรงพิมพ์สมัยก่อนจึงใช้โซดาไฟบ้างคลอรีนผงบ้าง ในการกัดสี แต่ก็เสียหายไปถึงบล็อคถึงเครื่องรีด รวมถึงควบคุมสีอะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องดูด้วยว่าเวลาพูดถึงสีกัดแล้ว คนขายเอาอะไรมาให้
ผ้าที่พิมพ์ดิจชาร์ได้ดีต้องเป็นฝ้าย 100% จะมีผสมโพลีเอสเตอร์บ้างก็ได้ แต่ก็ไม่ควรเกิน 50% และต้องย้อมรีแอคทีฟ มาที่ต้องเข้าใจก่อนคือรีแอคทีฟเป็นกระบวนการที่ย้อมฝ้าย ไม่ใช่โพลีเอสเตอร์ เพราะฉะนั้นผ้าผสมที่ย้อมมาดีจริง อาจจะแพงกว่าฝ้าย 100% ได้เพราะต้องผ่านกระบวนการมาทั้ง 2 แบบ
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าจะย้อมรีแอคทีฟมาแล้ว แต่มีสีย้อมบางเฉดที่โมเลกุลของสียาวและแข็งแรงมากจนหมึกดิสชาร์จย่อยไม่ได้ สีน้ำเงินรอยัล เขียวขี้ม้า และ แดงเลือดหมู เป็นกลุ่มที่ต้องมีการทดสอบทุกครั้ง ตรงกันข้ามสีแดง มักเป็นสีที่พิมพ์ดิสชาร์จได้สวยที่สุด
ตัวทำงานของดิสชาร์จ
หลายคนอาจเคยลองดิสชาร์จ หรือเคยมีเซลมาขาย ก็คงพอรู้บ้างว่าหมึกมันไม่ได้มากระป๋องเดียว แต่มีตัวผสมมาให้ และก็ให้ผสมเมื่อจะใช้เท่านั้น ดังนั้นตัวที่ทำงานจริงๆของดิสชาร์จไม่ใช่เบส แต่เป็นแอคติเวเตอร์ (ตัวผสม) ไม่ว่าจะมาในรูปผง หรือเหลว ก็เรียกแบบเดียวกัน ดังนั้นที่หมึกแต่ละยี่ห้อจะเอาดีได้ต่างกันก็เพราะตัวเบส ไม่ใช่แอคติเวเตอร์เพราะเอาเข้าจริงๆก็มีไม่กี่โรงงานในโลกที่ผลิตเคมีเหล่านั้นมาให้ใช้กัน เรามาคุยเรื่องแอคติเวเตอร์กันก่อน
แอคติเวเตอร์ มีด้วยกันอยู่ 2 แบบ
ฟอร์มัลดีไฮด์ซัลฟอกซาเลต (FS) เห็นชื่อแล้วอย่าเพิ่งกลัวกันไปก่อน FS เป็นตัวที่ใช้งานกันอย่างแพร่หลาย ใช้งานได้ดี ถ้าจะให้แยกแต่ละตัวจะทำให้เข้าใจได้มาขึ้นถึงอุปนิสัยของมัน
F – Formaldehyde หรือบ้านเราเรียกฟอร์มาลีน ตัวนี้เป็นตัวที่กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไม่เอากัน จริงๆ แล้วถ้าอบในระยะเวลาที่เหมาะสม ฟอร์มัลดีไฮด์จะสลายไปหมด ถ้าเหลือในเสื้อหลังพิมพ์จะทำให้เกิดการระคายเคือง **เสื้อพิมพ์ดิสชาร์จจึงควรซักก่อนใส่ทุกครั้ง** เตือนแล้วนะ
S – Sulfur กำมะถัน กลิ่นเหม็นๆเหมือนไข่เน่าเวลาพิมพ์มาจากตัวนี้ทั้งนั้น การอบไม่แห้ง การแฟลช จะทำให้ กำมะถันส่งกลิ่นออกมา
FS สามารถมาในรูปผงและเหลว ซึ่งเราจะคุยเยอะๆ กันที่ตัวนี้ภายหลัง

ไธโอยูเรียไดออกไซด์ (TD) ตัวนี้มาทีหลังและโปรโมตเป็นดิจชาร์จที่ไม่มีฟอร์มัลดีไฮด์ เหมาะสำหรับเสื้อผ้าเด็ก และดีกับสิ่งแวดล้อม แสนจะดี ติดอยู่ที่เมื่อเริ่มทำงานหมึกจะปล่อยก๊าซออซิเจนออกมาตลอดแรงดันในถังสีก็จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆจนสามารถจะระเบิดออกมาได้ ทำให้ทำงานกับหมึกยาก ไม่มีใครอยากใช้งาน เวลาขายก็จะใส่ถังมาไม่เต็ม เลยไม่เป็นที่นิยม
ผสมยังไงกันดี
ในที่นี้เราจะคุยเรื่องของ FS อย่างเดียวแล้วล่ะ เพราะอีกตัวไม่เป็นที่นิยม ซึ่งจะแยกคุยได้เป็นสองส่วน
เบส
ผ้าสีขาวๆที่เราเห็นทุกวันนี้เป็นผ้าที่เกิดจากการฟอกขาวแล้วก็ไปใส่สารโอโม่เข้าไปอีก ดังนั้นเวลาโรงผ้าเอาผ้าไปย้อมสี จึงไม่ได้มีความจำเป็นต้องเอาผ้าขาวขนาดนั้นไปย้อม เนื้อผ้าจริงๆจึงเป็นสีครีม หรือสีผ้าดิบ ทีนี้พอผ่านดิสชาร์จแล้วผลที่ได้รับจึงไม่ขาวจริงๆ ดังนั้นหากต้องการพิมพ์ดิสชาร์จให้ได้สีขาว หรือควบคุมเฉดสีให้ได้ตามต้องการจึงมีสองวิธีด้วยกัน
- ผสมแม่สีขาวลงไปในเบส วิธีนี้ได้ความนุ่มมือเต็มที่ เบสจะอุ้มแม่สีขาวได้อยู่ระหว่าง 20-25% ไม่เกินนั้น ความขาวก็จะไม่มาก หากเกินกว่านี้สีขาวจะตกออกมาเวลาซัก
- ผสมพลาสติซอลลงไปในเบส (อันนี้ไม่แน่ใจว่าเบสทุกยี่ห้อจะทำได้) เราแลกความนุ่มมือซักหน่อยกับการควบคุมเฉดสี ใช้งานง่ายขึ้้น ควบคุมง่ายขึ้น
แอคติเวเตอร์
- แบบผง : อัตราผสม 6-10% มากกว่านั้นงานจะสากเพราะผงๆที่เกิดจากการเปลี่ยนโมเลกุลของสีย้อมจะออกมาเยอะเกินไป ใช้ผสมหลังจากที่ผสมเบสกับแม่สีแล้ว เพื่อให้ผสมเสร็จเรียบร้อยก่อนจะนับเวลา ซึ่งด้วยความชื้นและความร้อนในบ้านเราแล้ว เราจะมีเวลาใช้งานอยู่ได้ไม่เกิน 8 ชั่วโมง แต่ควรผสมให้พอแค่ครึ่งวัน ไม่ใช่เพราะมันอยู่ได้แค่นั้น แต่เฉดสีที่กัดได้หัวงานกับท้ายงานจะเริ่มต่างกันมาก
- แบบเหลว : อัตราผสม 16-20% ไม่สามารถกัดได้แรงเร็วและเร้าใจได้เหมือนผง แต่สามารถอยู่ได้นานถึง 6 เดือนหลังจากผสมแล้ว และด้วยความที่ไม่มีผงเกี่ยวข้อง สามารถทำลายละเอียดได้บนผ้าสกรีนเบอร์ 230/นิ้วได้
ไม่ว่าจะเป็นแอคติเวเตอร์แบบใด ถ้าเราเลือกใช้เบสแบบผสมพลาสติซอล ให้ผสมผงในอัตราของเบสดิสชาร์จเท่านั้น ไม่ต้องเผื่อพลาสติซอลไปด้วย เพราะเค้าไม่ได้ใช้ ยกตัวอย่าง เบส 1 กิโลกรัม กับพลาสติซอลสีขาว 1 กิโลกรัม ก็ใส่แบบผงแค่ 60 กรัม หรือ แบบเหลว แค่ 160 กรัม
เริ่มพิมพ์กันเลย
แอคติเวเตอร์
- เสื้อ – ที่เวิร์ดสุดก็เกรดส่งออก หรือถ้าง่ายก็เสื้อสำเร็จรูปนำเข้า มีหลายยี่ห้อให้เลือกสมัยนี้
- ฟิล์ม – ปริ๊นท์ฟิล์มต่อห้ามเกยเพราะหมึกจะซึมเข้าหากันได้
- บล็อค – เลือกแบบที่ใช้กาวอัดสำหรับสีเชื้อน้ำ บางครั้งไม่ใช่กาวอัดไม่ทน แต่เราใช้ดิสชาร์จผงแล้วคนไม่ละลาย มันก็ไปขูดกาวอัดได้
- การปาด
ให้ทำ
- ปาดด้วยแรงพอดี ไม่ต้องกด ถ้าพบว่าเนื้อหมึกซึมลงไปใต้ผ้า แปลว่าใช้แรงกดเยอะเกินไป ตอนอบสีจะไม่เปลี่ยนเพราะมีหมึกที่ซ้อนอยู่ใต้ผ้าเยอะ
- ปาดแล้วกลบหน้าบล็อคเพราะหมึกดิสชาร์จเป็นเชื้อน้ำ สามารถแห้งคาบล็อคได้
อย่าหาทำ
- ห้ามแฟลชเคียว การให้ความร้อนคือการให้หมึกออกสตาร์ททำงาน ถ้าให้ความร้อนแล้วหยุดก่อน 2 นาที การทำปฏิกริยาจะไม่สมบูรณ์แล้วจะกลับมาอบไม่ได้อีก ที่ทำกันแล้วเหม็นมากๆเพราะแฟลชนี่ล่ะ
- ห้ามใช้บล็อครองพื้น เพราะหมึกมันไม่ซ้อนกันหรอก
- หากพิมพ์โต๊ะ ห้ามทิ้งไว้นานจนหมึกแห้งเอง หมึกจะเลิกทำงานและกลับบ้าน (เก่า) ไปเลย
5. การอบ
อุณหภูมิ 150องศาเซลเซียส(อุณหภูมิเมื่อจบ) ใช้เวลา 2 นาทีขึ้นไปในตู้อบ
รอให้เย็นก่อนค่อยวางซ้อนกัน เพราะหมึกอาจจะกัดตัวถัดไปได้
ถ้าต้องพิมพ์ด้านหน้า–หลัง เสื้อเมื่อเข้าตู้อบครั้งแรกเส้นด้ายจะรัดตัวมากกว่าเพราะเราไล่ความชื้นออกไป งานครั้งแรกจะไม่เหมือนพิมพ์ครั้งที่สอง ต้องเลือกว่าจะให้ลายหน้าหรือหลังพิมพ์ก่อน
หลังจากชิ้นงานออกมาเราอาจพบความสากที่เกิดจากปฎิกริยาเคมีบ้าง การสะบัดหรือเป่าเสื้อหลังจากอบแล้ว จะทำให้งานนุ่มลงได้โดยไม่ต้องซัก
สรุป
จะเห็นได้ว่าส่วนที่เราควบคุมไม่ได้จริงๆก็คือผ้า อะไรที่ซ่อนอยู่และมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าก็จะฟ้องกันขึ้นมาตอนพิมพ์ดิสชาร์จนี่ล่ะ ส่วนที่เหลือถ้าจะพิมพ์ไม่สำเร็จก็เป็นทริคเล็กๆน้อย พลาสติชาร์จ(พลาสติซอลผสมดิสชาร์จ) เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับคนที่ปรับตัวมาจากพลาสติซอล แต่อย่างไรก็ดีทุกอย่างต้องทดลองจริงก่อน
ถ้ามีคำถามเพิ่มเติมสามารถถามมาได้ทางไลน์ หรืออีเมล์ตามนี้นะครับ artist@psi.marketing